2 สัปดาห์หลังแอร์เอเชียตก เปิด 5 ทฤษฎีสาเหตุนำ QZ8501 สู่จุดจบ

  • 11 May 2020
  • 3902
หางาน,สมัครงาน,งาน,2 สัปดาห์หลังแอร์เอเชียตก เปิด 5 ทฤษฎีสาเหตุนำ QZ8501 สู่จุดจบ

ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว หลังจากเครื่องบินโดยสารแอร์บัส A320-200 เที่ยวบินที่ QZ8501 ของสายการบินแอร์เอเชียอินโดนีเซีย ตกในทะเลชวา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. แต่จนถึงบัดนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังมืดแปดด้าน ไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินลำนี้ต้องพบจุดจบได้

QZ8501 พร้อมผู้โดยสาร 155 คน ลูกเรือและนักบินรวม 7 คน เดินทางออกจากเมืองสุราบายา เมืองใหญ่ลำดับ 2 ของอินโดนีเซียในจังหวัดชวาตะวันออก ในเวลา 5:35 น. วันอาทิตย์ที่ 28 ธ.ค. โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เครื่องบินขาดการติดต่อกับหอบังคับการบินในเวลา 7:24 น. โดยนักบินติดต่อเข้ามาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนหน้านั้นเพื่อขอปรับเพดานบินจาก 32,000 ฟีต เป็น 38,000 ฟีต เพื่อหลบกลุ่มเมฆฝนฟ้าคะนอง

เจ้าหน้าที่ขนศพผู้เสียชีวิตรายที่ 40 และ 41 กลับถึงเมืองสุราบายา

จากนั้น เจ้าหน้าที่จากหลายประเทศทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ร่วมกันออกค้นหาเครื่องบินที่หายไป จนกระทั่งในวันอังคารที่ 30 ธ.ค. ก็พบเศษซากส่วนหนึ่งจากแอร์บัส A320-200 ลำนี้ รวมถึงศพผู้เสียชีวิต 3 ราย ในน่านน้ำบริเวณช่องแคบ คาริมาตา ในทะเลชวา ห่างจากเมืองปังกาลัน บุน บนเกาะบอเนียว ซึ่งเป็นจุดที่นกเหล็กลำนี้ขาดการติดต่อไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 110 ไมล์ทะเล

จนกระทั่งเมื่อวันพฤหัสบดี (8 ม.ค.) หน่วยค้นหาและกู้ภัยแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (BASARNAS: บาซาร์นาส) สามารถกู้ศพผู้เสียชีวิตได้แล้ว 43 ศพ และสำนักงานตำรวจแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือ (DVI POLRI) สามารถระบุตัวตนของศพได้แล้ว 25 ราย แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้ QZ8501 ตกได้ จนกว่าจะพบอุปกรณ์บันทึกการบิน หรือ 'กล่องดำ' อย่างน้อย 1 กล่อง

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้คิดทฤษฎีมากมายที่อาจเป็นเหตุที่ทำให้ QZ8501 ต้องพบจุดจบ โดยทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด มีดังนี้

สภาพอากาศเลวร้ายขัดขวางปฏิบัติการค้นหาของหน่วยค้นหาและกู้ภัยของอินโดนีเซีย

1. เกิดภาวะ แอโรไดนามิก สตอลล์ ขณะที่เครื่องบินบินเข้าไปในพายุ

เป็นคำอธิบายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ว่า แอร์บัส A320-200 ลำนี้ บินเข้าไปในพายุและเกิดอาการ สตอลล์ หรือสูญเสียความสามารถในการยกตัวและบิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่เครื่องบินประสบกับกระแสลมที่เคลื่อนตัวขึ้นด้านบนอย่างกะทันหัน

การสตอลล์ถือเป็นเรื่องโชคร้ายสำหรับนักบินและผู้โดยสาร แต่ในกรณีปกตินักบินส่วนใหญ่จะสามารถเพิ่มความเร็วในขณะที่จมูกเครื่องบินตกลง และทำให้เครื่องกลับมาบินต่อได้

แต่คำถามคือเหตุใด QZ8501 จึงไม่สามารถฟื้นตัวจากอาการสตอลล์ได้? ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า เครื่องตรวจวัดบางอย่างของเครื่องบินอาจได้รับความเสียหายจากพายุ ทำให้นักบินไม่รู้ตัวว่ากำลังอ่านค่าความเร็วหรือเส้นทางการบินที่ไม่ถูกต้อง บ้างก็เชื่อว่า นักบินหลายคนพึ่งพาระบบอัตโนมัติมากเกินไป และไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอเพื่อแก้ไขกรณีเกิดอาการสตอลล์ หรือตอบสนองอย่างเหมาะสมเวลาเครื่องตรวจวัดเสียหาย

2. เกิดอาการสตอลล์ ขณะนักบินพยายามบังคับเครื่องบินหลบพายุ

ผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่า อาการสตอลล์อาจสามารถเกิดขึ้นได้ ในขณะที่นักบินพยายามบังคับเครื่องบินให้เชิดหน้ามากจนเกินไปเพื่อหลบพายุ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า การติดต่อครั้งสุดท้ายระหว่างนักบินของ QZ8501 กับหอบังคับการบินก่อนที่จะขาดการติดต่อ เป็นการขอเพิ่มเพดานบินจาก 32,000 ฟีต เป็น 38,000 ฟีต เพื่อหลบพายุ

คำอธิบายนี้อาจมีความผิดพลาดของนักบินเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งระบุว่า นักบินควรพยายามบังคับเครื่องให้บินใกล้พายุมากกว่าบินเหนือพายุ แต่ นายอีร์ยานโต นักบินที่ 1 มีประสบการณ์เป็นอดีตนักบินของกองทัพอินโดนีเซียและมีชื่อเสียงในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพ ทั้งยังมีชั่วโมงบินมากกว่า 20,000 ชั่วโมง โดยเป็นเครื่องบินแอร์บัส A320 ถึง 6,100 ชั่วโมง ซึ่งหากเกิดการสตอลล์ขึ้นจริง เหตุใดเขาจึงไม่สามารถแก้ไขได้?

เจ้าหน้าที่แสดงเศษชิ้นส่วนรวมถึงสัมภาระบนเที่ยวบิน QZ8501 ที่กู้ได้จากทะเลชวา

3. เกิดน้ำแข็งเกาะสร้างความเสียหายแก่เครื่องยนต์

สำนักงานธรณีฟิสิกส์, ภูมิอากาศวิทยาและอุตุนิยมวิทยา ของอินโดนีเซีย (MCGA: เอ็มซีจีเอ) กล่าวโทษว่าสาเหตุที่ทำให้ QZ8501 ตก เกิดจากสภาพอากาศที่น่ากังวล ทำให้กลไกในเครื่องบินแอร์บัส A320 ลำนี้เป็นน้ำแข็ง รายงานของเอ็มซีจีเอระบุว่า ตำแหน่งสุดท้ายที่เครื่องบินอยู่บนเรดาร์ อยู่เหนือทะเลชวา ซึ่งสภาพอากาศโดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่า เครื่องบินลำนี้ไม่สามารถบินได้เนื่องจากการเป็นน้ำแข็ง

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนโต้แย้งทฤษฎีนี้ของเอ็มซีจีเอ ย้ำว่าเนื่องจากประสบการณ์ในอดีตของแอร์บัสที่มีปัญหาอย่างมากกับการเป็นน้ำแข็ง ทำให้ตอนนี้เครื่องบินของแอร์บัสมีการติดตั้งอุปกรณ์ต่อต้านการจับเป็นน้ำแข็งแล้ว

4. มาตรฐานความปลอดภัยที่ย่ำแย่

นอกจาก 3 ทฤษฎีที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีการตั้งคำถามอย่างมากว่า สถิติความปลอดภัยอันย่ำแย่ของการบินอินโดนีเซีย มีส่วนในอุบัติเหตุครั้งนี้หรือไม่?

เจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย กล่าวหาแอร์เอเชียอินโดนีเซียว่า ให้เที่ยวบิน QZ8501 ขึ้นบินโดยไม่ได้รับอนุญาต และสั่งพักงานเจ้าหน้าที่การบินประจำท่าอากาศยานนานาชาติ จูอันดา ในเมืองสุราบายาไปแล้วหลายราย เจ้าหน้าที่กล่าวหาด้วยว่า นักบินของเครื่องบินลำนี้ ไม่ได้รับรายงานสรุปสภาพอากาศก่อนบินอย่างพอเพียงด้วย

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ทำให้ เจ้าหน้าที่ได้เริ่มดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับการให้บริการเที่ยวบิน QZ8501 และตรวจมาตรฐานความปลอดภัยรวมทั้งความผิดพลาดของสายการบินทั้งหมดที่ให้บริการในอินโดนีเซียแล้ว แม้มาตรฐานการบินของอินโดนีเซียจะพัฒนาขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม

5. การระเบิดกลางอากาศ, เครื่องขัดข้อง หรือถูกวางระเบิด

การตกของ QZ8501 ทำให้เกิดทฤษฎีที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายของนักบิน หรือการโจมตีของผู้ก่อการร้าย แม้จะไม่มีใครออกมาอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตกของเครื่องบินลำนี้ก็ตาม ขณะที่ทฤษฎีเครื่องขัดข้อง ก็เป็นไปได้ยากที่จะเป็นสาเหตุให้เครื่องบินตก โดยอุบัติเหตุเครื่องบินแอร์บัสรุ่น A320 ตกทั้ง 26 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มใช้งานในปี 1988 ไม่มีเรื่องเครื่องขัดข้องเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตกเลย

ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเป็นไปได้เล็กน้อยที่ กระบวนการเพิ่ม-ลดความดันขณะนำเครื่องขึ้นบินหรือลงจอด จะทำให้ชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กหัก หรือเกิดรอยแตก และจะเกิดอาการนี้เร็วขึ้นหากอยู่ในที่ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นอินโดนีเซีย แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เครื่องบินที่เกิดเหตุมีอายุเพียง 6 ปี ซึ่งเร็วเกินไปที่จะเกิดความเสียหายเช่นนั้นได้

ภาพซากส่วนหางของเที่ยวบิน QZ8501

ทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจน แต่ก็เป็นไปได้ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากศพผู้เสียชีวิตที่พบ ไม่มีใครสวมเสื้อชูชีพเลย ซึ่งอาจหมายความว่าพวกเขาเผชิญหายนะโดยที่ไม่มีเวลาแม้แต่จะสวมใส่มัน

แต่ปริศนาเรื่องนี้อาจคลี่คลายในไม่ช้า เนื่องจากล่าสุดเจ้าหน้าที่หน่วยค้นหาและกู้ภัยพบส่วนหางของเที่ยวบิน QZ8501 แล้ว และหากโชคดีพวกเขาอาจพบกล่องดำ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดที่เครื่องบินลำนี้ประสบมาก็เป็นได้

ญาติผู้โดยสารและลูกเรือบนเที่ยวบิน QZ8501 สวดภาวนาแก่ผู้เสียชีวิต

JOBBKK.COM © Copyright All Right Reserved

Jobbkk has only one website. In no case, we have an affiliate, agent or appointee. Please do not rely on any other website, email, telephone, SMS or other contacting channel. If it is a case, we will prosecute under a lawsuit in the upmost as allowed. DBD

Top